วิธีการแยกขยะให้ปลอดภัย
สำหรับวิธีการที่จะแยกขยะให้ปลอดภัยห่างไกลจากเชื้อโรคและอันตรายนั้น ต้องเริ่มต้นที่ทำความเข้าใจกับสมาชิกในบ้านให้ดีว่าจะต้องร่วมกันปฏิบัติแบบไหนเพื่อให้บ้านของคุณห่างไกลโรค และแหล่งพาหะของโรคต่าง ๆ ซึ่งในการคัดแยกขยะจะต้องทำตั้งแต่ที่ขยะอยู่ในมือ ซึ่งเรามีตัวอย่างการปฏิบัติมาฝากด้วยดังต่อไปนี้
1. หน้ากากอนามัย
แน่นอนว่าแหล่งเชื้อโรคที่สำคัญมาจากหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว จึงต้องทำการแยกขยะชนิดนี้ให้ชัดเจน เพื่อให้ปลอดภัยจากคนในบ้านของคุณ และเจ้าหน้าที่ที่ทำการเก็บขยะด้วย วิธีการทิ้งคือ
– ฉีก/ตัดหน้ากากให้ขาดออก
– จับหูสองข้างพันเข้าด้วยกัน
– ใส่ถุงรองรับ (แยกจากขยะชิ้นอื่น) แล้วมัดปากถุงให้แน่น
– ทิ้งหน้ากากอนามัยลงถังขยะที่มีฝาปิด
2. ขยะมีคม
ขยะจำพวกมีด กรรไกร หรือมีดโกนหนวด จะต้องทำการห่อ หรือทิ้งลงภาชนะให้แยกออกมาให้ปลอดภัยทีสุด เช่น ทิ้งใบมีดลงในขวด แล้วทำการปิดฝาให้สนิท หรือห่อด้วยกระดาษทบหลาย ๆ ชั้น แล้วใส่ถุงแยกต่างหาก พร้อมเขียนหน้าถุงว่าของมีคม หรือขยะมีคม เพื่อไม่ให้สมาชิกในบ้านที่นำขยะไปทิ้งได้รับอันตรายหากถุงขยะหลุดรั่ว รวมทั้งป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ที่มาเก็บได้รับอันตรายด้วยเช่นกัน
3. ขยะมีพิษ
ขยะมีพิษที่ส่วนใหญ่เราใช้กันในบ้านได้แก่
– น้ำยาขัดห้องน้ำและสุขภัณฑ์
– นํ้ายาขัดกระจก
– ยาฆ่าแมลง
– นํ้ายาขัดเครื่องเงินหรือเครื่องทองแดง
– ยาขัดรองเท้า
– แบตเตอรี่
– ถ่านไฟฉาย
– หลอดไฟฟลูออเรสเซนส์
วิธีการทิ้งขยะมีพิษ คือ
– แยกขยะมีพิษออกจากขยะทั่วไป หากเป็นของเหลวไม่ควรทิ้งหรือเทรวมกันเพราะอาจทำปฏิกิริยาต่อกันได้
– เก็บรวบรวมไว้ในถุงพลาสติก มัดปากถุงให้แน่นแล้วนำไปทิ้งในถังขยะที่เป็นถังเฉพาะสำหรับขยะมีพิษ (ถังขยะสีแดง) หากไม่มีถังขยะสีแดงให้เขียนหน้าถุงว่า “ขยะมีพิษ” หรือ “ขยะอันตราย”
– กรณีที่เป็นถ่านไฟฉาย หลอดไฟฟลูออเรสเซนส์ แบตเตอรี่มือถือ หรือกระป๋องสเปรย์ต่าง ๆ ให้เก็บทิ้งโดยแยกคนละถุง พร้อมติดป้ายหน้าถุง เช่น “ขยะมีพิษ ถ่านไฟฉายใช้แล้ว”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะมีพิษประเภทกระป๋องสเปรย์ต่าง ๆ ที่มีสารที่เป็นพิษ หากใครสัมผัสอาจส่งผลต่อระบบประสาท เกิดอาการแพ้ และวิงเวียนศีรษะได้ จึงควรแยกออกจากขยะประเภทอื่น นอกจากจะลดอันตรายจากการสัมผัสแล้ว ยังลดโอกาสที่จะเกิดการระเบิดด้วย